Mitr Phol Group Sustainability

Edit Template

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก : ผู้ถือหุ้น, เกษตรกร, ชุมชน, คู่ค้า, ลูกค้าและผู้บริโภค, พนักงาน, ภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคม

การดำเนินธุรกิจย่อมต้องมีความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย การให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าเป็นเรื่องที่กลุ่มมิตรผลตระหนักและให้ความสำคัญเสมอมา เนื่องจากภาคธุรกิจมีหน้าที่สำคัญในการเป็นผู้เคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ผ่านการดำเนินธุรกิจที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ดังนั้นการสร้างความเข้าใจและความตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับบุคลากรมิตรผล จึงเป็นที่มิตรผลดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะเกิดการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

เป้าหมายและผลการดำเนินงานของปี 2566

เป้าหมาย
ผลการดำเนินงาน
การจัดการข้อร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชน
ร้อยละ 100
ร้อยละ 100

แนวทางการบริหารจัดการ

มิตรผลดำเนินงานสอดคล้องตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ และสอดคล้องกับหลักสากลอื่นๆ อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights; UDHR) ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact หรือ UNGC) รวมถึงหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(The International Labor Organization’s Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการบริษัทจึงได้กำหนดให้มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน และพิจารณาทบทวนเป็นประจำทุกปี รวมถึงการจัดให้มีกระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกับฝ่ายงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนแนวโน้มความเสี่ยงที่เป็นปัจจุบันที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมทางธุรกิจของมิตรผล คู่ค้า และผู้ร่วมธุรกิจตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานของมิตรผลให้สอดคล้องตามกฎหมายและหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

กระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน

กระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน

มิตรผลจัดทำกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ดังนี้ 

  1. คณะกรรมการบริษัทพิจารณาทบทวนนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน และประกาศให้มีผลบังคับใช้ครอบคลุมกิจกรรมในการดำเนินธุรกิจของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัทย่อย รวมถึงการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (การควบรวม การเข้าซื้อกิจการ และกิจการร่วมค้า) ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายด้านสิทธิมนุษยชนสอดคล้องกับหลักปฏิบัติของบริษัทเป็นไปตามข้อบังคับและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสอดคล้องกับหลักสากลด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ
  2. ศึกษาและทบทวนประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนของมิตรผลในปี พ.ศ.2565 เพื่อนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงและประเมินผลกระทบ โดยพิจารณาครอบคลุมถึงประเด็น การบังคับใช้แรงงาน การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก เสรีภาพในการสมาคม สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง การกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรม การเลือกปฏิบัติ การคุกคาม และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท พนักงาน พนักงานของบริษัทที่เป็นบุคคลที่สาม และกลุ่มผู้เปราะบาง เช่น เด็ก ผู้หญิง ผู้บกพร่องทางร่างกาย แรงงานต่างด้าว ชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น
  3. ประเมินความเสี่ยงและจัดทำทะเบียนความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนทุก 3 ปี เพื่อให้ได้มาซึ่งประเด็นความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญที่มิตรผลจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบและป้องกันความเสี่ยงที่อาจขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจทั้ง 7 กลุ่มธุรกิจของมิตรผล ซึ่งครอบคลุมทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจ และบริษัทย่อย รวมถึงการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (การควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ) คิดเป็น ร้อยละ 100 ของพื้นที่ปฏิบัติงานทั้งหมด ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การซ่อมบำรุง การก่อสร้าง การจัดเก็บ และการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการ โดยจะดำเนินการตรวจสอบทั้งกิจกรรมหลักและกิจกรรมสนับสนุน
ขอบเขตการจัดทำการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน

ประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ (Salient Human Rights Issues)

ประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ มาตรการดำเนินการ 
ด้านแรงงาน 
1. ความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน  
  1. มีนโยบายความปลอดภัย เช่น มาตรฐานการปฏิบัติงาน การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ 
  2. มีการกำหนดกฎพิทักษ์ชีวิตตามความเสี่ยงของแต่ละกลุ่มธุรกิจ และการตรวจประเมินด้านความปลอดภัยทั่วทั้งองค์กร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมแต่ละโรงงานตามกรอบ SSHE framework 
  3. มีการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กร 
  4. มีการฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน และการทำงานในพื้นที่เสี่ยง ให้แก่พนักงาน ชาวไร่ และผู้รับเหมา 
  5. มีการจัดเตรียมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้กับพนักงานและกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ให้แก่ผู้รับเหมา 
  6. มีโครงการสังเกตพฤติกรรมความปลอดภัย (Behavior Base Safety) และการรายงานสภาพที่ไม่ปลอดภัยเพื่อแก้ไข 
  7. มีการลงทะเบียนหญิงตั้งครรภ์ เพื่อรับทราบจำนวนพนักงานตั้งครรภ์ในแต่ละปี และจัดให้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายขณะตั้งครรภ์มากยิ่งขึ้น 
  8. มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เช่น กิจกรรม ลดพุง หุ่นสวย รวยสุขภาพ ฯลฯ 
  9. ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 45001: 2018 ระบบมาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย 
2. เงื่อนไขของการจ้างแรงงานในห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ชัดเจน 
  1. มีคู่มือการปฎิบัติงานด้านทรัพยากรบุคคลและแรงงานจ้างเหมา 
  2. มีการลงนามในคู่มือจรรยาบรรณของพนักงานและคู่ค้า 
  3. มีกระบวนการในการประเมินและการสุ่มตรวจสอบการปฎิบัติงานของคู่ค้า 
  4. สื่อสารและสร้างการรับรู้เรื่องกฎหมายแรงงานและนโยบายสิทธิมนุยชนให้แก่คู่ค้า 
  5. มีกระบวนรับข้อร้องเรียนที่ชัดเจน 
3. การนำบุตรหลานเข้ามาในพื้นที่ปฏิบัติงาน 
  1. มีการจัดทำพื้นที่พักคอยที่ปลอดภัยสำหรับนั่งพักให้แก่ ชาวไร่ ผู้ติดตาม และผู้รับเหมา  
  2. มีระบบควบคุมและตรวจสอบการเข้า-ออกพื้นที่โรงงานในทุกธุรกิจ  
  3. มีกระบวนการให้ความรู้และทำความเข้าใจ รวมถึงมีกระบวนการสอบตรวจในพื้นที่ไร่อ้อย 
  4. มีศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่โรงงานน้ำตาลและพาเนลพลัส 
ด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม 
4. ความปลอดภัยและวิถีการดำรงชีวิตของคนในชุมชน 
  1. กระบวนการสำรวจพื้นที่ชุมชน และกระบวนรับข้อร้องเรียนที่ชัดเจน 
  2. กระบวนการไตรภาคีในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อหารือร่วมกันระหว่างโรงงาน  ชุมชน และหน่วยงานราชการ/เครือข่ายธรรมภิบาล 
  3. มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการสื่อสาร ดูแล และร่วมพัฒนาชุนชนอย่างยั่งยืน 
  4. จัดทำโครงการรับซื้อใบอ้อย เพื่อส่งเสริมการไม่เผาอ้อย และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่ 
  5. ตั้งเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero เพื่อแก้ปัญหา และลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
5. การจัดการของเสียและมลภาวะ 
  1. มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม นโยบายจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงนโยบายจ้างคู่ค้าที่ได้รับการอนุญาตนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกโรงงาน เพื่อนำไปกำจัดตามประเภทที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด และขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้น 
  2. มีระบบการเฝ้าระวังและติดตามควบคุมผ่านตัวชี้วัดที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม 
  3. เริ่มทำการศึกษา โครงการพัฒนาระบบ AERMODEL & IoT sensors โดยนำเทคโนโลยีดิจิตอลมา บรูณะการเพื่อจัดทำโปรแกรมแบบจำลองในการพยากรณ์อากาศ และมลภาวะ เพื่อการส่งข้อมูล การแจ้งเตือน และสั่งการควบคุมอุปกรณ์ ในระบบการจัดการมลพิษของบริษัท 
  4. มีการใช้งานระบบ AERMODEL ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้พยากรณ์มลพิษอากาศ จากข้อมูลสถิติของอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลพิษทางอากาศจากปล่องระบาย เพื่อแสดงผลและใช้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในกลุ่มธุรกิจทดแทนไม้ 
  5. มีแผนการตรวจวัดค่าคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกโรงงานอย่างสม่ำเสมอ และมีแผนการดำเนินการติดตั้ง ระบบตรวจวัดมลพิษทางอากาศที่ปล่อยจากปล่องอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง CEMs (Continuous Emission Monitoring System) 
  6. มีการจัดทำโครงการ Waste to value เพื่อศึกษาและจัดการของเสียให้กลับมาใช้ประโยชน์อย่างมีคุณค่า เช่น โครงการนำขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้ามาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ 
  7. ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14001:2015 ระบบจัดการสิ่งแวดล้อม 
6. การบริหารจัดการน้ำใช้ในการดำเนินธุรกิจ 
  1. จัดให้มีและปรับปรุงระบบบำบัดกลิ่นและอากาศ และระบบบำบัดน้ำทิ้ง 
  2. โครงการ Zero discharge โดยมีการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ในด้านเกษตรกรรมของกลุ่มมิตรผล 
สิทธิลูกค้าและผู้บริโภค 
7. สุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคผลิตภัณฑ์น้ำตาล 
  1. ดูแล ควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารตามมาตรฐานสากล ได้แก่ ISO9000 / ISO22000 / FSSC22000 / GMP & HACCP ตลอดห่วงโซ่อาหารและส่งมอบไปยังลูกค้าและผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่ออาหาร 
  2. ตรวจสอบสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ และควบคุมปริมาณการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและโลหะหนัก ให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด 
  3. ใช้เทคโนโลยีในการผลิตและบรรจุตามระบบพื้นฐานของโรงงานที่ผลิตอาหาร (GHP) และ ระบบมาตรฐานการรับรองความปลอดภัยสำหรับการผลิตอาหาร (FSSC 22000) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล 
  4. มีการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าและผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ และนำข้อเสนอแนะของลูกค้ามาปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สินค้าคุณภาพและบริการที่ดี สร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค 
  5. จัดให้มีกระบวนการและช่องทางสำหรับการรับข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะของลูกค้าที่เกี่ยวกับสินค้าหรือการบริการ เพื่อตอบสนองปัญหาและเพิ่มความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว 

โดยจากการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทและกิจกรรมของห่วงโซ่อุปทานของบริษัท พบว่ามีพื้นที่ปฏิบัติงาน 12 แห่งจากทั้งหมด 43 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 27.91 ของพื้นที่ปฏิบัติงานทั้งหมด) เป็นพื้นที่ที่มีประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ โดยบริษัทได้ออกมาตรการควบคุมความเสี่ยงดังกล่าวฯ ครอบคลุมร้อยละ 100 ของพื้นที่ที่พบความเสี่ยงทั้งหมด 

ช่องทางการแจ้งเรื่องร้องเรียน

บริษัทกำหนดให้มีช่องทางการแจ้งเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเกิด โดยให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิของผู้ร้องเรียนและผู้แจ้งเบาแสเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และจะดำเนินการตอบสนอง สืบสวนข้อเท็จจริง และจัดการข้อร้องเรียนอย่างโปร่งใส ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงสื่อสารความคืบหน้าแก่ผู้ร้องเรียนและผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องตลอดกระบวนการจัดการข้อร้องเรียนดังกล่าว และจะพิจารณาแนวทางการเยียวยาตามความเหมาะสมแก่ผู้ได้รับผลกระทบเป็นรายกรณี 

บริษัทได้กำหนดให้กรรมการบริษัท ผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชา หน่วยงานธรรมาภิบาล กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสำนักงานตรวจสอบเป็นผู้รับแจ้งขอร้องเรียนด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อรวบรวมและแจ้งไปยังหน่วยงานธรรมาภิบาล ซึ่งผู้ส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกของบริษัทและบริษัทย่อย สามารถส่งข้อร้องเรียนโดยตรงผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้

อีเมล

CG@mitrphol.com

เว็บไซต์บริษัท

www.mitrphol.com/whistleblowing

ไปรษณีย์

หน่วยงานธรรมาภิบาล บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (สำนักงานใหญ่) เลขที่ 2 อาคารเพลินจิตเซ็นเตอร์ ชั้น 3 ถนนสุขุมวิท คลองเตย กรุงเทพฯ 10110

ช่องทางอื่น

ร้องเรียนผ่านช่องทางอื่นใดที่เหมาะสมและสะดวกสำหรับผู้ร้องเรียน

การดูแลและเยียวยาผลกระทบ

เมื่อได้รับแจ้งการร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน บริษัทจะดำเนินการตอบสนอง สืบสวนข้อเท็จจริง และจัดการข้อร้องเรียนอย่างโปร่งใส กรณีที่สืบสวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่าการดำเนินงานของบริษัทก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน บริษัทจะพิจารณาแนวทางการเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสมเป็นรายกรณีตามบริบทของเหตุการณ์ หรือกรณีการละเมิดที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งรายงานเหตุการณ์ต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง รวมถึงนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาใช้พัฒนามาตรการควบคุมให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยพนักงานผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงพฤติกรรมเลือกปฏิบัติหรือการล่วงละเมิด ถือเป็นการทำผิดจรรยาบรรณของบริษัท จะได้รับการพิจารณาทางวินัยตามระเบียบบทลงโทษที่บริษัทกำหนดไว้ อาทิ การถูกคำสั่งพักงาน การหักค่าจ้าง การไล่ออก นอกจากนี้อาจได้รับโทษตามกฎหมายหากการกระทำนั้นผิดกฎหมายด้วย

รางวัลดีเด่นองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน

บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้รับรางวัลดีเด่นองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี พ.ศ.2566 ประเภทภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

นโยบายที่เกี่ยวข้อง

นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน

Mitr Phol Group Sustainability
Privacy Overview

This website uses cookies so that we can provide you with the best user experience possible. Cookie information is stored in your browser and performs functions such as recognising you when you return to our website and helping our team to understand which sections of the website you find most interesting and useful.